20 พฤศจิกายน 2552

ราชบุรี...นานมาแล้ว



........ราชบุรีนับเป็นดินแดนที่น่าทึ่ง มีชัยภูมิที่ตั้งของแผ่นดินที่เหมาะสม แวดล้อมด้วยเทือกเขาตะนาวศรีภาคตะวันตกที่มียอดสูงสุดและยังเป็นป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์อยู่ที่อำเภอสวนผึ้ง ตามแนวเขาอุดมไปด้วยแร่ธาตุ เช่น ดีบุก วุลแฟรม เฟลสปาร์ ควอตซ์ แกรนิต หินปูน ป่าอุดมสมบูรณ์มีทั้งป่าดิบ ป่าเขา ป่าเบญจพรรณ มีแม่น้ำแม่กลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อให้เกิดที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ราบต่ำในเขตน้ำทะเลหมุน

ชุมชนโบราณ
........มีการขุดพบชุมชนโบราณก่อนพุทธกาลที่ถ้ำเขาขวาก ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม เป็นโครงมนุษย์ที่ยังใส่กำไลสำริด ต่างหูลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว และลูกปัดกระดูก พบภาชนะดินเผาและเครื่องมือโลหะเหล็กและยังพบเครื่องคล้ายกันนี้ที่โคกพลับ อำเภอบางแพ พบที่บ้านปากบึง อำเภอจอมบึง สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนที่รู้จักใช้โลหะแล้ว ขุดพบชุมชนมนุษย์ที่เหมืองโบราณ ใช้ภาชนะสำริดที่มีลวดลายคนและสัตว์ เป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่รู้จักใช้เครื่องมือหินกะเทาะ ขวานหินขัด กำไลหิน และจักรหิน ที่หุบเขาจมูกบริเวณริมห้วยสวนพลู มีเส้นทางติดต่อกับลำน้ำภาชีบริเวณที่มีการทำเหมืองดีบุก พบภาชนะสำริดเป็นชามและขัน

........ชุมชนโบราณมักอาศัยตามเขาและถ้ำ จึงพบซากมนุษย์ตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอย ภาชนะต่างๆ ตั้งแต่ยุคหินสู่ยุคโลหะเหล็กและทองสำริด อายุ 500 ปีก่อนคริสตกาล

จากถ้ำสู่เมือง
........จากการขุดค้นพบเมืองโบราณคูบัว พบร่องรอยวัฒนธรรมทวารวดี ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งทวารวดีเป็นยุคสมัยแห่งความเป็นอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 11-12 ถือเป็นอาณาจักรแห่งความเจริญในยุคที่สำคัญมากยุคหนึ่ง

........เมืองโบราณคูบัวในปัจจุบันที่เหลือเพียงซาก อยู่ตำบลคูบัว อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองออกไป 5 กิโลเมตร พบว่าจากร่องรอยทางภูมิศาสตร์ถือเป็นเมืองท่าเรือ เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำอ้อมหรือเป็นแม่น้ำแม่กลองสายเก่า ซึ่งเป็นลำน้ำที่อ้อมจากอำเภออัมพวาผ่านวัดเพลง ไปเชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลอง ทำให้คูบัวกลายเป็นเมืองท่าชายฝั่งที่ติดต่อถึงทะเลได้ในสมัยทวารวดี และยังมีความสัมพันธ์กับนครชัยศรี โดยเฉพาะเมืองอู่ทองลุ่มแม่น้ำท่าจีน

........ร่องลอยที่ยังคงเหลือ พบเปลือกหอยแครงทับถมมากมาย ดินเผาสำหรับปั่นฝ้ายพวยกา ลูกตุ้มถ่วงแห เนินพระสถูปก่ออิฐแบบทวารวดี มีพระพุทธรูปและพระพิมพ์สมัยทวารวดีที่ยังเหลืออยู่ ฐานเจดีย์โบราณที่วัดโขลงอยู่กลางเมืองโบราณคูบัว อายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับยุครุ่งเรืองของเมืองโบราณคูบัว

........วันเวลาผ่านไปเมืองโบราณคูบัวได้ขยับขยายเคลื่อนย้ายชุมชนไปตามแนวสันทราย ที่ปัจจุบันคือ “ถนนท้าวอู่ทอง” ที่เริ่มจากบริเวณบ้านตากแดด อำเภอบางแพ ผ่านบ้านโพหักไปยังอำเภอเมือง ผ่านคูบัวไปยังอำเภอปากท่อ เข้าเขาย้อยออกท้องทะเลที่เพชรบุรี

........ในศตวรรษที่ 16 ชุมชนคนราชบุรีได้โยกย้ายจากคูบัวมาอยู่ใกล้แม่น้ำแม่กลอง ค้นพบเครื่องปั้นดินเผาสมัยห้าราชวงศ์และสมัยซ้องที่ท้องน้ำแม่กลอง พบหม้อดินเผาคอสูง ซึ่งเป็นศิลปะทวารวดีตอนปลาย

........เข้าศตวรรษที่ 18 อิทธิพลของขอมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างนครวัดนครธม ได้แผ่เข้าอาณาจักรไทยและไหลเรื่อยมาจนถึงราชบุรี ศิลปะแบบบายนจึงพบเห็นที่ราชบุรี เช่น พระปรางค์วัดมหาธาตุ พระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้วใบระกาเหนือกำแพงศิลาแลงและประติมากรรมรูปครุฑยุคนาคที่อยู่ตรงทางเข้าระเบียงคดด้านทิศตะวันตกที่วัดมหาธาตุ

........ประมาณศตวรรษที่ 19-20 ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้จารึกนามราชบุรีเป็นเมืองร่วมสมัยกับสุโขทัย แพรกศรีราชา สุพรรณภูมิ เพชรบุรีและนครศรีธรรมราช